วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

มโนทัศน์สำคัญเกี่ยวกับหลักสูตรและทฤษฎีหลักสูตร

ความหมายของหลักสูตร
หลักสูตรมาจากภาษาอังกฤษคือ “ Curriculum ” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Currere” แปลว่าทางวิ่ง หรือลู่ที่นักกีฬาวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ( R.C. Das,et al,NCERT,1984:4)
ความหมายของหลักสูตรได้มีนักวิชาการได้ให้คำนิยามแลความหมายไว้ดังนี้
แฟลงกลิน  บอบบิตต์ (Franklin  Bobbitt, 1918) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตรเป็นรายวิชาหรือเนื้อหาที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียน
วีลเลอร์ (Wheeler,1974:11) ให้ความเห็นไว้ว่า หลักสูตรหมายถึง มวลประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาให้กับผู้เรียน
ชาฟฟาร์ซาอิค และแฮมพ์สัน (Schaffarzaick  and Hampson,eds.,1975:1)  หลักสูตรคือ แผนที่ประกอบไปด้วย จุดมุ่งหมายของการศึกษา ประสบการณ์และการเรียนรู้ ซึ่งจัดไว้ในลักษณะที่ง่ายต่อการประเมินผล
ธำรง  บัวศรี (2531:7) หลักสูตรคือ แผนที่มีการออกแบบ หรือจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหากิจกรรม และประมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้”     (อ้างถึงใน ดร.สุทธนู  ศรีไสย์. การจัดการและการวางแผนพัฒนาหลักสูตร.2551:55-58)     
สรุปความหมายของหลักสูตร
จากการที่นักวิชาการหลายๆคนได้ให้ความหมายของหลักสูตร จึงพอสรุปได้ว่า  หลักสูตร หมายถึง   แนวการจัดประสบการณ์ และ/หรือ เอกสาร ที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษา โดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
ความหมายของทฤษฎี
ทฤษฎี(Theory)หมายถึง หลักการที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว และกำหนดขึ้นมาเพื่อจะได้ทำหน้าที่อธิบายการกระทำหรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง(อาภรณ์  ใจเที่ยง.2525:1 อ้างถึงใน รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)
ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร
ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) หมายถึง ข้อความที่อธิบายความหมายของหลักสูตรโดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ชี้นำแนวทางการพัฒนาการใช้และการประเมินผลหลักสูตรประกอบกัน (รศ.ดร.ประพิมพ์พรรณ โชคสุวัฒนสกุล.หลักสูตรมัธยมศึกษา.2534:34)
ทฤษฎีหลักสูตรชนิดต่างๆ ทฤษฎีหลักสูตรแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1. ทฤษฎีแม่บท เป็นทฤษฎีหลักที่กล่าวถึงหลักการ กฎเกณฑ์ทั่วๆไป ตลอดจนโครงสร้างของหลักสูตร
2. ทฤษฎีเนื้อหา เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับเนื้อหา กล่าวถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ
3. ทฤษฎีจุดประสงค์ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และกล่าวถึงว่าจุดประสงค์นั้นๆได้อย่างไร
4. ทฤษฎีดำเนินการ เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงว่า จะทำหรือดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างไร (กาญจนา คุณารักษ์.2527:5 อ้างถึงใน โกสินทร์ รังสยาพนธ์.2526:25)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น